ประเด็นร้อน

ความท้าทายการต้านคอร์รัปชันในปี 2561

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 08,2018

- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง  โดย : พิษณุ พรหมจรรยา ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 

ในสัปดาห์ที่แล้วได้ทบทวนถึงการทำงาน และความก้าวหน้าของ ภาคเอกชนในการร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในฝั่งอุปทาน ซึ่งมีแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เป็นหัวหอก สำคัญ

 

ตั้งแต่ที่มีการริเริ่มโครงการ CAC มาตั้งแต่ปี 2553 จำนวนบริษัทที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ไม่รับ-ไม่จ่ายสินบนกับ CAC ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แค่ 20 กว่าบริษัทในปีแรก มาจนเป็น 873 บริษัทในปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทในเครือ ในขณะที่บริษัทจำกัดที่อยู่นอกตลาด และบริษัทข้ามชาติ รวมถึงบริษัทขนาดเล็กก็มีอยู่บ้าง แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทเหล่านี้ทั้งหมด

 

เมื่อมาพิจารณาถึงไส้ในของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มาร่วม ประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว ก็พบว่าเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจในภาคการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ค่อนข้างเข้มงวด และธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริงที่มีความเสี่ยงด้านการจ่ายสินบนต่ำ ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านการจ่ายสินบนสูงอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง ยังเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ไม่มากนัก

 

ซึ่งหมายความว่าธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการจ่ายสินบนต่ำ หรือที่เปรียบได้เป็น low-hanging fruits นั้น ส่วนใหญ่ได้เข้ามาร่วมโครงการแล้ว ดังนั้นความพยายามที่จะดึงบริษัทจดทะเบียนที่เหลือเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ในระยะต่อไปจึงถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเหลือแต่บริษัทที่อาจจะมีความเสี่ยงด้านการจ่ายสินบนสูง หรือบริษัทที่ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำธุรกิจอย่างโปร่งใสปลอดจากการจ่ายสินบน

 

แนวทางหนึ่งที่ทาง CAC ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการต่อในปีนี้ก็คือการพยายามชักชวนให้กลุ่มธุรกิจเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์แบบเป็นกลุ่ม (Sectoral Approach) เพราะการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะประกาศตัวแบบโดดๆ นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจเห็นพ้องต้องกัน และออกมาร่วมประกาศเจตนารมณ์เป็นกลุ่ม เหมือนกับกรณีของบริษัทในธุรกิจในภาคการเงิน หรือกลุ่มบริษัทชั้นนำในสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS) และกลุ่มบริษัทในสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC แบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็มีโอกาสมากขึ้นที่บริษัทอื่นๆ ในธุรกิจนั้นๆ จะเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น

 

นอกจากบริษัทขนาดใหญ่แล้ว CAC ยังได้สนับสนุนให้บริษัทที่เข้ามาร่วมโครงการ CAC แล้วทำตัวเป็น Change Agent ด้วยการชักชวนให้บริษัทที่ร่วมทำธุรกิจอยู่ด้วยเข้ามาร่วมโครงการ CAC เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของตัวเองสะอาดโปร่งใสตั้งแต่ตลอดสายโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่มีความขันแข็งในด้านนี้ และประสบความสำเร็จในการดึงซัพพลายเออร์ให้เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เป็นจำนวนมากอย่างเช่น สมบูรณ์กรุ๊ป บางจาก และ ปตท.

 

อย่างไรก็ตาม CAC พบว่าเกณฑ์การประเมินตนเอง 71 ข้อที่ใช้อยู่กับบริษัทขนาดใหญ่นั้น อาจจะไม่เหมาะสมกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีข้อจำกัดที่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น CAC จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินตนเองสำหรับเอสเอ็มอี โดยตัดทอนลงให้เหลือแค่ 17 ข้อ แต่ยังคงหลักการสำคัญเอาไว้ เพียงแต่ปรับให้สอดคล้องกับโครงสร้างและความสามารถในการปฏิบัติตามของธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดของโครงการ CAC ไม่ได้อยู่ที่จำนวนบริษัทที่เข้ามาร่วมโครงการ แต่อยู่ที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของพฤติกรรมการจ่ายสินบนของภาคเอกชน ดังนั้นภารกิจของ CAC จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การชวนให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ และดำเนินการให้ผ่านการรับรองมากๆ

 

อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ CAC ได้ดำเนินการไปในปีที่ผ่านมาก็คือ การริเริ่มโครงการนำร่อง "Citizen Feedback" ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจและความโปร่งใสของการใช้บริการของหน่วยงานรัฐ  ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ที่พัฒนาโดยภาคเอกชน โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2560 ได้มีการทดสอบระบบ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาใช้บริการที่สำนักงานที่ดิน 3 แห่ง ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และส่วนงานทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดซึ่งนำไปสู่แบบสอบถามสั้นๆ ซึ่งใช้เวลาในการตอบเพียงไม่เกิน 2 นาที

 

ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ทดสอบระบบ มีประชาชนร่วมให้ข้อมูลผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์หลายพันราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าแบบสอบถามที่หน่วยราชการจัดทำเองอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะให้ข้อมูลหากมั่นใจว่ามีการเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เป็นกลางในภาคเอกชน และจะมีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงบริการจริง

 

CAC กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยราชการที่จะเข้ามาร่วมทดสอบระบบโครงการ  Citizen  Feedback ในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มให้จำนวนเป็นอย่างน้อย 50-100 หน่วยราชการภายในปีนี้ ซึ่งหากระบบนี้ใช้การได้ดีและมีการขยายไปยังหน่วยราชการทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพบริการของระบบราชการ และจะลดเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ในที่สุด

 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw